การออม การลงทุน

เทียบชัด! ประกันบำนาญ VS ลงทุน เลือกวางแผนเกษียณอย่างไรดี?

FWD Thailand

วางแผนเกษียณด้วยประกันบำนาญดีไหม หรือ จัดพอร์ตลงทุนดีกว่า?

เพราะเป้าหมายของการทำงานหนักในวันนี้มีจุดหมายอยู่ที่การเกษียณอายุอย่างสบายใจแต่นอกจากจะทำงานหนักและเก็บเงินเอาไว้เพื่อรอรับดอกเบี้ยแล้ว การนำเงินเก็บบางส่วนออกมาต่อยอดก็จะสามารถช่วยสร้างรายรับและรักษาสภาพคล่องทางการเงินเอาไว้ได้ แม้จะไม่ได้ลงแรงทำงานแล้วก็ตาม

ในปัจจุบันนี้การทำประกันบำนาญและการจัดพอร์ตลงทุนนั้นถือเป็นการนำเงินเก็บมาต่อยอดเพื่อรองรับแผนเกษียณที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนหลายคนอดสงสัยอยู่ไม่น้อยว่าจะเลือกวิธีต่อยอดเงินเก็บแบบไหนให้เหมาะกับตัวเองมากที่สุด หากใครสงสัยแบบเดียวกันนี้อยู่ มาไขทุกข้อสงสัยได้ในบทความนี้กัน

แผนเกษียณสำคัญอย่างไร?

ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจ พนักงานบริษัท หรืออาชีพไหน

การเตรียมแผนเกษียณอายุเอาไว้ให้พร้อมตั้งแต่วันที่ยังทำงานไหวอยู่ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา เรี่ยวแรงในการทำงานเพื่อสร้างรายได้ก็น้อยลงไปตาม มิหนำซ้ำอายุที่เพิ่มขึ้นเองก็มาพร้อมกับความเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงจากสุขภาพที่มีรายจ่ายตามมา

ด้วยเหตุนี้ การวางแผนเกษียณเอาไว้ตั้งแต่วันนี้จะสามารถช่วยทั้งบริหารจัดการเงินให้เพียงพอต่อชีวิตบั้นปลาย ตลอดจนช่วยวางแผนชีวิตเพื่อบริหารความเสี่ยงรอบด้านในภายภาคหน้า ทั้งในด้านของสุขภาพ อุบัติเหตุ รวมถึงเหตุไม่คาดฝันที่มาพร้อมกับค่าใช้จ่าย

วางแผนเกษียณอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ?

ก่อนที่จะไปทำความรู้จักถึงข้อดีของประกันบำนาญ ตลอดจนเรื่องที่ต้องพิจารณาก่อนจัดพอร์ตลงทุนเพื่อการเกษียณ ทุกคนจำเป็นที่จะต้องเริ่มวางแผนเกษียณที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุดก่อน

สำหรับมือใหม่ที่ยังไม่มั่นใจว่าจะวางแผนเกษียณของตัวเองอย่างไร ลองมาสร้างเป้าหมายเพื่อการเกษียณตามหลัก SMART กันดูก่อน โดยจะมีรายละเอียดตามแต่ละตัวอักษร ดังนี้

ตัวอักษร

ความหมาย

ตัวอย่าง

S - Specific

เป้าหมายต้องมีรายละเอียดชัดเจน ไม่คลุมเครือ

นาย A อายุ 30 ปี ต้องการเกษียณตอนอายุ 55 ปี ตอนนี้นาย A มีรายได้ 150,000 บาท/เดือน

นาย A แต่งงานกับนาง B แล้ว ตัดสินใจว่าจะไม่มีลูกด้วยกัน

M - Measurable

วัดผลได้ชัดเจน จับต้องได้

นาย A มีค่าใช้จ่ายรายเดือน รวมค่าใช้จ่ายกับนาง B ทั้งหมดแล้วอยู่ที่ 20,000 บาท รวมอัตราเงินเฟ้อ

A - Accountable

การวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมาย

นาย A จะต้องซื้อประกันชีวิตบำนาญ หรือ จัดพอร์ตลงทุนให้ได้ผลตอบแทนขั้นต่ำ 20,000 บาท/เดือน

นาย A มีการหักเงินเก็บ 100,000 บาทต่อเดือนเพื่อรอรับดอกเบี้ย

R - Realistic

เป้าหมายต้องตั้งอยู่บนหลักความเป็นจริง

นาย A มีบ้านเป็นมรดกจากพ่อแม่ มีรถยนต์ของทางบ้าน เดินทางไปทำงานด้วยขนส่งสาธารณะ และไม่มีภาระหนี้สิน

เมื่อหักค่าใช้จ่ายและเงินเก็บทั้งหมดแล้ว นาย A ยังมีเงินเหลือ 150,000 - 100,000 - 20,000 = 30,000 บาท ซึ่งสามารถเลือกซื้อประกันบำนาญหรือลงทุนได้

T - Time Bound

กำหนดระยะเวลาในการเห็นผลลัพธ์ที่เหมาะสม

นาย A มีเวลา 20 ปี เพื่อรอสร้างผลตอบแทนในประกันชีวิตบำนาญ หรือ พอร์ตการลงทุน

หากเลือกประกันบำนาญ หรือ สินทรัพย์การลงทุนที่เหมาะสม ก็สามารถสร้างผลตอบแทนที่ต้องการได้

ประกันชีวิตบำนาญเหมาะกับแผนเกษียณของเราไหม

วางแผนเกษียณด้วยประกันบำนาญดีไหม?

สำหรับใครที่กำหนดรายละเอียดของแผนเกษียณตัวเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะซื้อประกันชีวิตบำนาญ หรือ จัดพอร์ตการลงทุน เพื่อรองรับแผนเกษียณของตนเอง ในส่วนนี้ลองมาทำความเข้าใจถึงการซื้อประกันบำนาญให้มากขึ้นกัน

ประกันบำนาญ หรือ ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity) คือ ประกันชีวิตสำหรับการออมเงินที่ผู้เอาประกันจะต้องจ่ายเบี้ยให้ครบตามระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งผู้เอาประกันจะได้รับเงินเมื่อถึงอายุ/ตามระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้จากนั้นทางประกันจะคืนเงินเป็นรูปแบบของเงินบำนาญจนกว่าจะครบกำหนดตามเงื่อนไขในกรมธรรม์

เช่น นาย A เลือกซื้อประกันบำนาญที่กำหนดส่งเบี้ยประกัน 30 ปี โดยส่งเงิน 30,000 บาทต่อเดือน โดยกรมธรรม์ระบุว่า นาย A จะได้รับเงินบำนาญเมื่ออายุ 60 ปี และจะได้รับเงินเรื่อย ๆ ไปจนถึงอายุ 90 ปี ดังนั้น เมื่อนาย A อายุครบ 60 ปีแล้ว ประกันจะเป็นผู้จ่ายเงินให้กับนาย A ในรูปแบบของบำนาญ ซึ่งจำนวนเงินนั้นจะแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของบริษัทประกันแต่ละแห่ง

Insurance Tips:

ประกันบำนาญนั้นจะมีลักษณะคล้ายกับประกันสะสมทรัพย์ แต่จะเป็นประกันคนละประเภทกับประกันควบการลงทุน หรือ Unit Linked เนื่องจากบริษัทประกันจะไม่ได้นำเงินของเราไปลงทุนในสินทรัพย์ใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์

ประกันบำนาญเหมาะกับใคร?

  • ผู้ต้องการวางแผนเกษียณอายุและต้องการได้รับเงินในจำนวนที่แน่นอน
  • ผู้ที่ต้องการรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เนื่องจากข้อดีของประกันบำนาญ คือ สามารถลดหย่อนภาษีได้

  • ผู้ที่ต้องการบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเสียชีวิต เนื่องจากประกันจะให้ความคุ้มครองชีวิต ในบางกรมธรรม์ยังสามารถเลือกผู้รับมรดกได้เช่นกัน

  • ช่วยสร้างวินัยทางการเงินหลังเกษียณ เนื่องจากส่วนใหญ่เมื่อเกษียณอายุ ทั้งการลงทุนและประกันบำนาญจะเริ่มจ่ายเงินก้อน ซึ่งหากไม่วางแผนการเงินให้ดีอาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับสภาพคล่องทางการเงินได้

ข้อจำกัดของประกันบำนาญ

  • ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 2% - 3% ต่อปี หากไม่บริหารเงิน หรือ เลือกกรมธรรม์ให้ตอบโจทย์อาจทำให้ต้องรับความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้
  • ต้องพิจารณาและติดตามการเปลี่ยนแปลงในกรมธรรม์ การจ่ายผลตอบแทน รวมถึงสถานะการดำเนินงานของบริษัทประกันอยู่เสมอ

เคล็ดลับการเลือกประกันบำนาญให้ตอบโจทย์

  1. เลือกทุนประกันที่เพียงพอต่อแผนเกษียณอายุที่ตั้งเอาไว้ เริ่มจากการคำนวณค่าใช้จ่ายที่เพียงพอสำหรับการเกษียณ อย่างน้อยควรได้เงินบำนาญในแต่ละเดือนขั้นต่ำ 70% ของรายจ่ายที่คำนวณ ณ วันก่อนเกษียณ
  2. เลือกเบี้ยประกันที่เหมาะสมกับรายรับและรายจ่าย ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะส่งประกันไม่ครบจนไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่คาดหวังไว้

  3. คำนวณความเสี่ยงของตนเองให้รอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงที่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการป่วย อุบัติเหตุ ตลอดจนการเสียชีวิต

จัดพอร์ตลงทุนเพื่อการเกษียณดีไหม?

เมื่อทำความรู้จักข้อดีของประกันบำนาญ ตลอดจนแนวทางการเลือกประกันบำนาญที่เหมาะสมกับตัวเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทีนี้ลองมาพิจารณารายละเอียดของการจัดพอร์ตลงทุนเพื่อการเกษียณกัน

การลงทุนเพื่อการเกษียณ เป็นการลงทุนเพื่อสะสมผลตอบแทนให้เพียงพอสำหรับการเกษียณอายุ โดยนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ใดก็ได้ตามความเสี่ยงที่รับไหวและประสบการณ์การลงทุนที่ผ่านมา

โดยส่วนใหญ่แล้ว นักลงทุนมักเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ เช่น การลงทุนในหุ้นปันผล กองทุนรวมระดับความเสี่ยง 1 - 4 และตราสารหนี้ หรือหากรับความเสี่ยงได้สูงขึ้นก็สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี นักลงทุนควรสร้างพอร์ตการลงทุนเพื่อการเกษียณแยกจากพอร์ตการลงทุนอื่น ๆ เนื่องจากจะได้สะดวกต่อการติดตาม ปรับพอร์ต และวางแผนรับมือความเสี่ยงในภายภาคหน้า

จัดพอร์ตลงทุนเพื่อการเกษียณเหมาะกับใคร?

  • นักลงทุนที่มีประสบการณ์ หรือ นักลงทุนมือใหม่ที่เข้าใจตลาดการลงทุน
  • ผู้ที่ต้องการสร้างผลตอบแทนที่เพียงพอต่อการเกษียณ โดยหากจัดพอร์ตเลือกสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพอาจสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงถึง 4% - 5% ต่อปี ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในการบริหารพอร์ตการลงทุน

  • การลงทุนบางประเภทสามารถนำผลตอบแทนมาลดหย่อนภาษีได้ ทำให้นักลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย

  • ผู้ที่ต้องการสร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอทั้งช่วงก่อนและหลังเกษียณอายุ

ข้อจำกัดของการจัดพอร์ตลงทุน

  • การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนจึงต้องศึกษารายละเอียด การสร้างผลตอบแทน และวางแผนการลงทุนให้รอบคอบ
  • หากเลือกสินทรัพย์การลงทุนที่ไม่เหมาะสม มีความเสี่ยงที่จะขาดทุน เงินต้นลดลง หรือ สร้างผลตอบแทนได้ไม่มีประสิทธิภาพ

มือใหม่จัดพอร์ตลงทุนเพื่อการเกษียณอย่างไร?

  1. พิจารณาระดับความเสี่ยงที่รับไหวจาก 2 ปัจจัยหลัก ประกอบไปด้วย

    ● Risk Tolerance ความเสี่ยงที่รับได้จากอายุ นิสัย สไตล์การลงทุน และประสบการณ์การลงทุน

    ● Risk Capacity ความเสี่ยงที่รับได้จากปัจจัยทางการเงิน เช่น ต้นทุน รายได้ ค่าใช้จ่าย ภาระหนี้สิน และอื่น ๆ

  2. เลือกลงทุนในสินทรัพย์ตามความเสี่ยงที่รับไหว เช่น หากต้องการลงทุนในกองทุนรวม แต่เป็นมือใหม่ หรือ รับความเสี่ยงได้ไม่สูงมาก สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมระดับความเสี่ยง 1 - 3 ได้เช่นกัน

  3. ติดตามผลตอบแทนจากการลงทุนให้รอบคอบ ศึกษารายละเอียดของสินทรัพย์การลงทุนให้ครบถ้วน พร้อมวางแผนปรับพอร์ตการลงทุนอยู่เสมอ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดในทุกช่วงเวลา

  4. วางแผนการเงินแยกออกจากแผนการลงทุน เพื่อป้องกันไม่ให้ผลขาดทุนจากการลงทุน ที่จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน หรือ พูดง่าย ๆ คือ หากขาดทุนแล้วก็ยังไม่ส่งผลต่อการเงินในชีวิตนั่นเอง

สรุปแล้วควรซื้อประกันบำนาญหรือลงทุนเพื่อเกษียณดี

เทียบชัด! ประกันบำนาญ VS จัดพอร์ตลงทุน ควรวางแผนเกษียณแบบไหนดี?

ข้อเปรียบเทียบ

ประกันบำนาญ

จัดพอร์ตลงทุน

ข้อดี

  • ได้รับเงินบำนาญประจำทุกเดือน

  • ช่วยสร้างวินัยทางการเงินหลังเกษียณอายุได้

  • ลดหย่อนภาษีได้

  • คุ้มครองความเสี่ยงจากการเสียชีวิต

  • มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้สูง
  • ผลตอบแทนจากการลงทุนบางประเภทสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

ข้อควรระวัง

  • ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ไม่สูงมาก ขึ้นอยู่กับกรมธรรม์
  • ต้องส่งเบี้ยประกันให้ครบ

  • การลงทุนมีความเสี่ยงต่อทั้งผลขาดทุนและเงินต้น

เหมาะกับใคร

  • ผู้ที่ต้องการเงินจำนวนที่แน่นอนในแต่ละเดือนหลังการเกษียณอายุ
  • ผู้ที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้น้อย

  • ผู้ที่ต้องการสะสมผลตอบแทนเพื่อการเกษียณอายุ
  • นักลงทุนที่มีประสบการณ์ในการลงทุนและเลือกสินทรัพย์

  • ผู้ที่ต้องการสร้างผลตอบแทนทั้งก่อนและหลังการเกษียณ

ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ

2% - 3% ต่อปี ขึ้นอยู่กับกรมธรรม์และบริษัทประกันแต่ละแห่ง

มีโอกาสได้มากกว่า 5% ต่อปี ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์การลงทุนและประสบการณ์ในการบริหารพอร์ต

จะเห็นได้ว่าทั้งประกันบำนาญและการจัดพอร์ตลงทุนเพื่อการเกษียณนั้นสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญ คือ การกำหนดเป้าหมายและรายละเอียดสำหรับแผนเกษียณให้รอบคอบ เพื่อเลือกซื้อประกันชีวิตบำนาญ หรือ ลงทุนให้ตอบโจทย์ความต้องการมากที่สุด

สำหรับใครที่ต้องการเริ่มต้นแผนเกษียณอายุตั้งแต่วันนี้ แต่ยังไม่มีประสบการณ์การลงทุนมากนัก ทั้งยังรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ไม่สูงมาก ประกันบำนาญจากเอฟดับบลิวดี Easy E-Retire 90/5 พร้อมตอบโจทย์เป้าหมายเกษียณอายุ อุ่นใจจ่ายเบี้ยสั้นแค่ 5 ปี รับบำนาญถึงอายุ 90 ปี พร้อมมีเงินใช้จ่ายที่เพียงพอต่อความต้องการในวันที่ไม่ได้ทำงาน มีให้เลือกหลากหลาย ลงตัวทุกความต้องการได้ในทุกแง่มุม