การออม การลงทุน

สรุปให้ครบประกันที่ใช้ลดหย่อนภาษีปี 2566 ได้ มีอะไรบ้าง?

บอกครบทุกเรื่องเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีประจำปีด้วยประกัน

ใกล้หมดปีแล้ว คนมีเงินได้เช็กสิทธิลดหย่อนภาษีด่วน ว่าประกันแบบใดที่ทำแล้วสามารถใช้ลดหย่อนภาษีตามกฎหมายได้บ้าง และจะลดหย่อนได้เท่าไร หรือมีเงื่อนไขใดที่ควรรู้ รวมถึงจะมีประกันแบบไหนที่ไม่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ ไปเช็กกันเลย

ทำไมเราจึงควรทำประกันเพื่อใช้ในการลดหย่อนภาษี

การทำประกัน คือ การสร้างหลักประกันและลดความเสี่ยงด้านการเงิน หากว่าเราเกิดเจ็บป่วย หรือเสียชีวิต อีกทั้งยังช่วยผ่อนหนักให้กลายเป็นเบา จากความคุ้มครองของกรมธรรม์ตามเงื่อนไขที่เราได้ทำเอาไว้ การทำประกันจึงเป็นเสมือนการวางแผนการเงินเอาไว้ล่วงหน้า ประกอบกับค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนสวัสดิการที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอต่อการจ่ายในการรักษาตัว การทำประกันจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินในส่วนนี้ได้

รัฐบาลไทยได้สนับสนุนให้ประชาชนมีการวางแผนทางการเงิน และสร้างหลักประกันในการใช้ชีวิต ทั้งยังเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของทางภาครัฐในการช่วยเหลือประชาชน จึงให้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่ทำประกันเพื่อเป็นแรงจูงใจ แต่ไม่ใช่ประกันทุกประเภทที่จะสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ แต่จะต้องเป็นประกันที่อยู่ในเงื่อนไขตามที่กรมสรรพากรตั้งเอาไว้ด้วย

ครอบครัวมีความสุข พ่อแม่สร้างหลักประกันและใช้ลดหย่อนภาษี

ประกันที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีอะไรบ้าง?

โดยสามารถใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท และต้องเป็นประกันที่มีระยะเวลาในการคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป โดยต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และหากมีการจ่ายเงินคืนระหว่างสัญญาจะต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยรายปี หรือเบี้ยสะสมของช่วงเวลาที่จ่ายเงินคืน

• ประกันชีวิตแบบ Unit-Linked หรือประกันชีวิตควบการลงทุน จัดอยู่ในหมวดประกันชีวิตทั่วไป แต่มีเงื่อนไขในการนำมาลดหย่อนภาษีที่ค่อนข้างซับซ้อน กล่าวคือ สามารถนำเงินค่าประกันภัย และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของกรมธรรม์มาลดหย่อนภาษีได้ โดยมีเงื่อนไขเดียวกับประกันชีวิตแบบทั่วไป และเมื่อรวมกับประกันชีวิตแบบทั่วไปจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท แต่ส่วนที่นำไปลงทุนไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีประจำปีได้

• ประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท แต่หากว่าไม่ได้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไป สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนรวมได้ 300,000 บาท เงื่อนไขสำคัญคือ เป็นประกันที่มีกำหนดเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป และเมื่อรวมกับกองทุนบำนาญอื่น ๆ อย่าง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

เบี้ยประกันสุขภาพของตนเองลดหย่อนภาษีสูงสุด 25,000 บาท

นอกจากเบี้ยประกันชีวิตแล้ว เบี้ยประกันสุขภาพก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย

• เบี้ยประกันสุขภาพ เบี้ยประกันอุบัติเหตุ ประกันโรคร้ายแรง และประกันภัยการดูแลระยะยาว ที่ให้ความคุ้มครองสุขภาพ สามารถนำมาลดหย่อนได้ 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปแล้ว จะต้องไม่เกิน 100,000 บาท และต้องทำกับบริษัทประกันในประเทศไทย

เบี้ยประกันชีวิตและสุขภาพของคนในครอบครัวลดหย่อนภาษีได้เท่าไร?

ไม่เพียงแต่เบี้ยประกันของตนเองเท่านั้นที่นำไปลดหย่อนภาษีได้ แต่เบี้ยประกันของคนในครอบครัวที่ไม่มีเงินได้ และอยู่ในการดูแลของเราก็สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้เช่นเดียวกัน ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

• ประกันสุขภาพของบิดามารดาของตนเอง สามารถนำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท ตามที่จ่ายจริง โดยมีเงื่อนไขว่าบิดาและมารดาจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี สามารถลดหย่อนได้ไม่มีเงื่อนไขของอายุเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม หากว่ามีพี่น้องร่วมกันจ่ายค่าประกันสุขภาพให้บิดามารดา ให้หารเฉลี่ยตามจำนวนพี่น้องที่จ่าย เช่น มีพี่น้อง 2 คน จะเหลือลดหย่อนได้ไม่เกิน 7,500 บาทต่อคน

• ประกันสุขภาพของบิดามารดาของคู่สมรส สามารถนำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี และพ่อแม่ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีเช่นเดียวกัน

• ประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ สำหรับคู่สมรสที่แต่งงานกัน แล้วคู่สมรสไม่มีรายได้ สามารถนำเงินประกันชีวิตของคู่สมรสมาลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท และจะต้องเป็นคู่สมรสที่แต่งงานกันมาทั้งปีภาษี ไม่นับคู่ที่แต่งภายในปีภาษีนั้น ๆ

นอกจากนี้ ประกันสุขภาพของพ่อแม่ยังมีเงื่อนไขสำคัญอีกประการคือ เราหรือคู่สมรสจะต้องเป็นลูกแท้ ๆ ของพ่อแม่เท่านั้น หากว่าเป็นลูกบุญธรรมไม่สามารถนำเงินประกันสุขภาพมาใช้ลดหย่อนภาษีได้

ผู้หญิงกำลังคำนวณว่าประกันลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่

สิ่งที่ควรรู้ในเรื่องของสิทธิลดหย่อนภาษีจากประกัน

นอกจากเราจะต้องรู้ว่าประกันลดหย่อนภาษีได้เท่าไร และมีเงื่อนไขอะไรบ้างแล้ว มีสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับสิทธิลดหย่อนภาษีดังต่อไปนี้

• เมื่อทำประกันแล้ว จะต้องแจ้งบริษัทประกันให้เปิดเผยข้อมูลแก่กรมสรรพากร เพื่อให้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง

• เงินลดหย่อนจะนำไปหักลบกับเงินได้ เพื่อเป็นเงินได้สุทธิในการคำนวณภาษี ไม่ได้หักลบกับจำนวนภาษีที่ต้องจ่าย ซึ่งวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะต้องนำเงินได้ทั้งหมดมาหักค่าใช้จ่ายส่วนตัว และค่าลดหย่อนส่วนตัว แล้วค่อยนำมาเทียบอัตราภาษีที่ต้องจ่าย ไม่ใช่นำมาลบกับเงินภาษีที่ต้องจ่าย

• หากว่าเรายกเลิกสัญญา หรือเวนคืนประกันชีวิตก่อนกำหนด 10 ปี เราจะต้องคืนภาษีย้อนหลังที่ได้รับสิทธิไปพร้อมกับดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือน และไม่สามารถใช้กรมธรรม์ดังกล่าวลดหย่อนภาษีได้อีก

• ประกันชีวิตของลูกและพ่อแม่ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีตามกฎหมายได้

• ประกันชีวิตที่มีอายุสัญญาไม่เกิน 10 ปี ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นเดียวกัน

ทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพจากเอฟดับบลิวดีลดหย่อนภาษีได้ตามกฎหมาย

โค้งสุดท้ายของการวางแผนภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา อย่าลืมซื้อเบี้ยประกันชีวิตและประกันสุขภาพที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ จาก FWD ซื้อง่าย ผ่านช่องทางออนไลน์

ข้อมูลอ้างอิง:

1. การหักลดหย่อน. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.rd.go.th/557.html

2. ลดหย่อนภาษี ปี 2566: ทุกเรื่องที่ต้องรู้ รวบรวมมาให้แล้ว!. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.finnomena.com/z-admin/tax-deduction-2/

3. สรุป ซื้อประกันแบบไหน ได้ลดหย่อนภาษี? สิทธิประโยชน์และเงื่อนไขที่ต้องรู้. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.finnomena.com/yournicefriend/insurance-tax/

4. ค่าลดหย่อน (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา). สืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.itax.in.th/pedia/ค่าลดหย่อน/