ขยันทำงานมาทั้งปี ขยันเพิ่มอีกสักนิดด้วยการคํานวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของตัวเอง เพื่อจัดสรรการลงทุนและความคุ้มครองให้สอดคล้องกับแผนการณ์ในชีวิตและเป้าหมายทางการเงินในแต่ละปีของเรา ซึ่งนอกจากจะทำให้เสียภาษีลดลงอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นคั่งอีกด้วย
เพื่อเช็กว่าเรามีสินทรัพย์ หนี้สิน หรือการจัดการการเงินอย่างไร เพื่อที่เราจะได้มองเห็นถึงข้อผิดพลาดและแนวทางการแก้ไขในปีนี้เพิ่มเติม โดยใช้วิธีการวางแผนภาษีมาเป็นตัวช่วยในการวางแผนด้านการเงิน และวินัยในการใช้จ่ายของเราให้ดีขึ้น
นำเงินเดือนของปีที่ผ่านมาและโบนัสที่ได้รับ มาคำนวณดูว่า รายได้เราทั้งปีเป็นเท่าไร จากนั้นหักออกด้วยค่าใช้จ่าย หักค่าลดหย่อน และนำยอดที่เหลือไปเปรียบเทียบในตารางอัตราฐานภาษี
ตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
รายการ | จำนวนเงิน (บาท) |
เงินได้ + โบนัส | 1,000,000 |
- หักค่าใช้จ่ายส่วนตัวตามมาตรา 40 (2) | - 100,000 |
- หักลดหย่อนส่วนตัว | - 60,000 |
เงินได้สุทธิ | 840,000 |
จากนั้นลองเปรียบเทียบจากตารางภาษีตามด้านล่างนี้พบว่าเงินได้สุทธิ 840,000 บาท จะมีอัตราภาษี 20%
เงินได้สุทธิ (บาท) | ช่วงเงินได้สุทธิ (บาท) | อัตราภาษี (%) | ภาษีสะสมสูงสุด (บาท) |
150,000 บาทแรก | 150,000 | ยกเว้น | - |
150,001 – 300,000 | 150,000 | 5% | 7,500 |
300,001 – 500,000 | 200,000 | 10% | 27,500 |
500,001 – 750,000 | 250,000 | 15% | 65,000 |
750,001 – 1,000,000 | 250,000 | 20% | 115,000 |
1,000,001 – 2,000,000 | 1,000,000 | 25% | 365,000 |
2,000,001 - 5,000,000 | 2,000,000 | 30% | 1,265,000 |
5,000,001 บาทขึ้นไป | - | 35% | - |
สูตรการคำนวณหาภาษีที่ต้องชำระ = [(เงินได้สุทธิของตนเอง - เงินได้สุทธิที่มากที่สุดของลำดับขั้นก่อนหน้า) X อัตราภาษี (%)] + ภาษีสะสมสูงสุดของลำดับขั้นก่อนหน้า
ชำระคือ [(840,000 – 750,000) X 20%] + 65,000 = 83,000 บาท
เมื่อรู้แล้วว่า คุณมียอดรวมที่ต้องชำระภาษีเท่าไร ลองวางแผนต่อไปว่า คุณต้องการซื้ออะไรเพิ่มเติมเพื่อลดหย่อนภาษีอีกหรือไม่ แต่ไม่ได้แปลว่าการลดหย่อนภาษีจะประหยัดภาษีได้เต็มจำนวนที่คุณจ่ายไป ขึ้นอยู่กับอัตราภาษีของคุณด้วย เช่นอัตราฐานภาษีสูงสุดของคุณอยู่ที่ 20% จะสามารถหักลดหย่อนได้สูงสุด 20% ของผลิตภัณฑ์ลดหย่อนที่คุณชำระไป
ตัวอย่าง : รายการลดหย่อนภาษีที่คุณมีอยู่แล้วและสามารถลดหย่อนภาษีได้
ผลิตภัณฑ์ลดหย่อนภาษีที่มีอยู่แล้ว | ชำระ (บาท) |
กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ | 126,000 |
ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย | 50,000 |
เงินประกันสังคม | 5,850 (เฉพาะปี 2563) |
รวมรายการลดหย่อนภาษีที่มีอยู่แล้ว | 181,850 |
จากตัวอย่างเดิม หากซื้อผลิตภัณฑ์ทั้งสามรวม 181,850 บาท จะทำให้เงินได้สุทธิลดลงจาก 840,000 บาท เหลือ 658,100 บาท และภาษีเงินได้ลดลงจาก 83,000 บาท เหลือ 51,215 บาท
การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วและสามารถลดหย่อนภาษีได้ในเบื้องต้น ทำให้คุณรู้ว่าเหลือสิทธิ์เพื่อลดหย่อนภาษีได้อีกเท่าไร ช่วยให้คุณวางแผนซื้อเพิ่มเติมในปีนี้ได้ถูกต้อง ไม่มากหรือน้อยเกินความจำเป็น