การออม การลงทุน

วางแผนเกษียณอย่างมั่นคงด้วยวิธีคํานวณให้ตรงไลฟ์สไตล์!

คำนวณค่าใช้จ่ายเพื่อวางแผนเกษียณให้ตรงใจด้วยตัวเอง

เมื่อพูดถึงชีวิตหลังเกษียณ หลายคนมักคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวที่ยังไม่ต้องให้ความสนใจมากนัก แต่แท้จริงแล้ว หากไม่รีบวางแผนตั้งแต่อายุยังน้อย ก็อาจส่งผลไปถึงความเป็นอยู่ในชีวิตบั้นปลายได้ ยิ่งในปัจจุบัน เทรนด์การเกษียณไวในสังคมยุคใหม่ ยังทำให้หลายคนต้องรีบเก็บเงินเพื่อให้ตัวเองมีอิสรภาพทางการเงิน และสามารถเกษียณได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งนี้สอดคล้องกับแนวคิดอย่าง FIRE หรือ Financial Independence Retire Early ที่ให้ความสำคัญกับการออมและการลงทุนมากถึง 50% ของรายได้ ควบคู่ไปกับการคํานวณรายจ่ายให้เหมาะสม เพื่อให้การวางแผนเกษียณเป็นไปตามเป้าหมายอย่างที่เราตั้งใจเอาไว้

ดังนั้น การเริ่มวางแผนเก็บออมจึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ แต่หลายคนอาจสงสัยว่าในการวางแผนเกษียณ เราควรคำนวณเงินเท่าไหร่ถึงจะช่วยให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างที่ใจต้องการในช่วงเกษียณ วันนี้เรามีเทคนิควางแผนเกษียณอย่างมั่นคงเพื่อตอบโจทย์ให้ตรงไลฟ์สไตล์มาฝากกัน โดยมีขั้นตอนในการคิด ดังนี้

คํานวณเงินเพื่อแผนเกษียณ

ขั้นที่ 1: ตรวจสอบเงินออมที่มีอยู่

ปัจจัยแรกในการคำนวณเงินเพื่อแผนเกษียณที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ คือการสำรวจเงินออมในปัจจุบัน เพื่อตั้งต้นว่าจะสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง และจะต้องหาเงินเท่าไรเพื่อเก็บออมสำหรับการเกษียณ โดยสำรวจตั้งแต่เงินออมจากบัญชีเงินฝาก เงินทุนประกันสังคม หรือการลงทุนในหุ้นและกองทุนรวม โดยนำข้อมูลทั้งหมดมารวมกันเพื่อคํานวณรายได้จากทุกทางและวางแผนเกษียณว่าต้องเพิ่มเงินอีกเท่าไร ซึ่งหากพบว่ามีเงินออมไม่เพียงพอ จำเป็นต้องวางแผนเพิ่มเติม เช่น เพิ่มเงินออม ลงทุนเพิ่มผลตอบแทน เพื่อให้ได้เงินตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และการใช้ชีวิตที่สุขสบายในอนาคต

ขั้นที่ 2: ต้องการใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบใด เพื่อการคำนวณค่าใช้ที่เหมาะสม

ค่าใช้จ่ายยามเกษียณจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล จึงอาจมีการคํานวณในการประมาณค่าใช้จ่ายวางแผนเกษียณที่แตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งไลฟ์สไตล์การเกษียณออกได้เป็น 5 รูปแบบ ตามนิยามของ FIRE ดังนี้

LEAN FIRE สายประหยัด

เป็นรูปแบบการเกษียณแบบพอเพียง ที่เน้นการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ประหยัดค่าใช้จ่าย และพึ่งพาตนเองมากขึ้น เช่น การอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าครองชีพต่ำ ปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเอง โดยเงินที่ใช้สำหรับเกษียณจะรองรับเพียงค่าใช้จ่ายพื้นฐาน โดยไม่รวมค่าความสุขอื่น ๆ เช่น การท่องเที่ยว หรือการช้อปปิ้ง ซึ่งจะทำให้ถึงเป้าหมายในการเก็บเงินได้ไว จนอาจเกษียณได้เร็วกว่าไลฟ์สไตล์แบบอื่น

REGULAR FIRE สายคงเดิม

เป็นรูปแบบการเกษียณที่รักษาไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในรูปแบบเดิมเอาไว้ โดยการวางแผนเกษียณสำหรับกลุ่มคนประเภทนี้ จะต้องนำตัวเลขตามค่าใช้จ่ายจริงในปัจจุบันมาคำนวณ แล้วคิดเผื่ออัตราเงินเฟ้อเอาไว้ด้วย ซึ่งจะต้องครอบคลุมทั้งค่าใช้จ่ายพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมือนกับก่อนเกษียณ

FAT FIRE สายลักชัวรี

เป็นรูปแบบการเกษียณที่มุ่งเน้นการเกษียณอย่างมีระดับ โดยมีเงินออมเพียงพอที่จะใช้จ่ายในสิ่งที่ต้องการ เช่น การท่องเที่ยว การซื้อบ้าน หรือการใช้ชีวิตแบบสุขสบาย จึงต้องมีเงินเกษียณส่วนหนึ่งเตรียมเอาไว้ และมีเงินในส่วนที่สามารถสร้างรายได้หลังเกษียณรวมอยู่ด้วย เช่น ประกันบำนาญ ซึ่งคนที่เกษียณในสายนี้ จึงเน้นเก็บเงินด้วยการนำเงินมาลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนเชิงรุก และสร้าง Passive Income ให้เงินงอกเงยขึ้นเพื่อรองรับกับไลฟ์สไตล์ในแบบลักชัวรีอย่างที่ตนเองต้องการ

BARISTA FIRE สายพาร์ทไทม์

เป็นรูปแบบการเกษียณที่มีแนวคิดในการทำงานพาร์ทไทม์ โดยผู้เกษียณจะยังคงทำงานพาร์ทไทม์เพื่อหารายได้เสริม เพื่อสร้างรายได้ให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนเกิน หรือเพื่อนำเงินดังกล่าวมาลงทุนเพิ่มเติม จึงสามารถลาออกจากงานหลักมาทำงานเสริมได้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากเป็นแนวทางที่ช่วยให้สามารถเกษียณอายุได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องลดมาตรฐานการครองชีพลงมากนัก แต่อาจไม่เหมาะกับคนที่ไม่ชอบทำงาน เพราะอาจต้องทำงานพาร์ทไทม์ไปเรื่อย ๆ

COAST FIRE สายวางแผน

เป็นรูปแบบการเกษียณที่เน้นการวางแผนเก็บเงินก้อนและนำไปลงทุนระยะยาวแบบดอกเบี้ยทบต้น โดยไม่ถอนออกมาใช้ เพื่อปล่อยให้กองทุนเติบโตจนพอใจถึงเป้า เหมาะกับผู้ที่วางแผนเกษียณตอนอายุ 60 ปี หรือมากกว่านั้น

เริ่มคํานวณเงินออมสำหรับแผนเกษียณ

เทคนิคการคำนวณค่าใช้จ่าย เพื่อการเกษียณด้วย กฏ 4% Rule of Thumb

การคำนวณค่าใช้จ่ายยามเกษียณด้วยแนวคิดแบบ FIRE นั้น สามารถทำได้ด้วยสูตร 4% Rule of Thumb ซึ่งได้มีการอธิบายเอาไว้ว่า เงินออมยามเกษียณควรมีมูลค่าเท่ากับ 25 เท่าของค่าใช้จ่าย เพื่อให้สามารถถอนเงินออกมาใช้ปีละ 4% โดยไม่ทำให้เงินออมหมดไปตลอดอายุเกษียณ ซึ่งหากเรารู้แล้วว่าไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตหลังเกษียณของเราเป็นอย่างไร จากนั้นให้ลองนำมาคิดคำนวณค่าใช้จ่ายรายปีที่ต้องใช้หลังเกษียณออกมา ตัวอย่างเช่น

หากปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายรายปีอยู่ที่ 250,000 บาท จะต้องออมเงินให้ได้ 25 x 250,000 บาท = 6,250,000 บาท จึงจะสามารถเกษียณได้อย่างสบายใจ ซึ่งตัวเลข 4 % นี้เกิดจากการทดลองของ William Bengen นักวางแผนการเงินชาวอเมริกัน โดยอาศัยข้อมูลการลงทุนในหุ้นและพันธบัตรในช่วงปี 1926-1994 ซึ่งพบว่า การลงทุนในสินทรัพย์ทั้งสองประเภทนี้สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 7% ต่อปี ดังนั้น หากสามารถถอนเงินออกมาใช้ปีละ 4% ของเงินออมยามเกษียณ ก็จะเหลือเงินออมไว้เพื่อการเติบโตอีก 3% ต่อปี ซึ่งเพียงพอที่จะชดเชยกับอัตราเงินเฟ้อและสามารถนำไปลงทุนต่อยอด ทำให้เงินออมไม่หมดไปตลอดอายุเกษียณได้

แต่ทั้งนี้ ตัวเลข 4% เป็นเพียงค่าเฉลี่ยจากข้อมูลเก่าเท่านั้น อีกทั้งยังต้องมีการลงทุนเพื่อสร้างเงินให้งอกเงยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย จึงไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะสามารถนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสมกับทุกคน จึงควรพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ร่วมกับการคํานวณค่าใช้จ่ายสำหรับวางแผนเกษียณด้วย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำยิ่งขึ้น โดยปัจจัยที่พูดถึงคือปัจจัยเหล่านี้

● ปัจจัยด้านสุขภาพ หลังเกษียณสุขภาพอาจเปลี่ยนแปลงไปเนื่องด้วยอายุที่มากขึ้น ทำให้เกิดการเจ็บป่วย หรือต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบ่อย ๆ ทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น

● ปัจจัยด้านที่อยู่อาศัย หากยังคงอาศัยอยู่ที่บ้านหลังเดิมหลังเกษียณ อาจไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่หากต้องการย้ายที่อยู่ หรือไปอยู่อาศัยในสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ ก็ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย

● ปัจจัยด้านสถานะ หากอยู่อาศัยคนเดียวโดยไม่มีใครให้ดูแลก็สามารถวางแผนโดยใช้ชีวิตโสดเกษียณด้วยตัวเองได้อย่างง่ายดาย แต่หากมีลูก หรือคู่ชีวิต ก็อาจต้องคำนึงถึงการเก็บออมเงินเพิ่มเติมเพื่ออนาคตของคนรอบข้างด้วย

แต่หากใครต้องการวางแผนอย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น ก็อาจเพิ่มอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปีละ 3% เข้าไปด้วย เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าจะสามารถใช้เงินในยามเกษียณได้อย่างคล่องตัว หรือเพื่อป้องกันกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจส่งผลต่อด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถคำนวณอัตราเงินเฟ้อหลังเกษียณได้ด้วยการใช้สูตร ‘จำนวนเงินที่ต้องใช้หลังเกษียณ x ( 1 + อัตราเงินเฟ้อต่อปี 3%) = จำนวนปีในการเก็บเงิน’ ซึ่งสามารถนำมาคิดต่อจากจำนวนเงินด้านบน ดังนี้ 6,250,000 x ( 1+3%)30 = 15,170,390 ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อรวมอัตราเงินเฟ้อแล้ว จำนวนเงินที่ต้องเก็บออมเพื่อการเกษียณจะสูงขึ้นมาก จึงควรคิดคำนวณให้ดีโดยเผื่อปัจจัยเงินเฟ้อนี้ไว้ด้วย

ขั้นที่: 3 วางแผนการเก็บออม

หลังจากคำนวณเงินที่ต้องใช้สำหรับแผนเกษียณได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการยึดเงินจำนวนนั้นเป็นเป้าหมายและมองหาทางเลือกที่จะช่วยให้สามารถเก็บออมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งควรดูความเสี่ยงที่รับได้เป็นสำคัญ ยิ่งลงทุนเร็วก็จะสามารถลองเสี่ยงด้วยเงินจำนวนน้อยได้มากขึ้น แต่หากมีเวลาในการเก็บออมน้อยก็อาจต้องเลือกลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก ๆ แต่เน้นความเสี่ยงต่ำที่มั่นคง โดยสามารถแบ่งระดับความเสี่ยงในการลงทุนได้ ดังนี้

● ความเสี่ยงสูง ได้แก่ หุ้นสามัญ กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมทองคำ

● ความเสี่ยงปานกลาง ได้แก่ ตราสารหนี้ภาคเอกชน กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว กองทุนรวมผสม

● ความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ เงินฝาก พันธบัตรออมทรัพย์ ตราสารหนี้ภาครัฐ

ขั้นที่: 4 ทบทวนและตรวจสอบแผนเกษียณอยู่เสมอ

เมื่อวางแผนการลงทุนเพื่อเก็บออมได้แล้วก็อย่าเพิ่งเบาใจ ควรติดตามและตรวจสอบแผนการลงทุนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อติดตามผลลัพธ์ว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ โดยควรศึกษาและทำการบริหารพอร์ตการลงทุนอยู่เสมอ เพื่อปรับเปลี่ยนแผนการออมให้เหมาะสมกับตัวเองมากยิ่งขึ้น โดยยังคงยึดถือเป้าหมายหลักในการเก็บออมให้ได้จำนวนเงินตามที่ต้องการ

และนี่คือ 4 ขั้นตอน ที่สามารถนำไปต่อยอดวางแผนเกษียณ พร้อมคำนวณเป้าหมายเพื่อชีวิตแสนสุข เตรียมสร้างอนาคตสำหรับการเกษียณอย่างมั่นคง ด้วยประกันวัยเกษียณ Easy E-Retire 90/5 ที่ให้คุณเลือกใช้ชีวิตวัยเกษียณได้อย่างสบายใจ แผนประกันบำนาญที่ระยะเวลาชำระเบี้ยสั้นเพียง 5 ปี ให้คุณวางแผนได้แม่นยำ และค่าเบี้ยสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้คุ้มค่าสูงสุด 300,000 บาท บาทตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด (ไม่รวมเบี้ยประกันชีวิตของแผนประกันอื่นๆ) เพื่อเริ่มต้นวางแผนเกษียณอย่างสบายใจ ที่เหมาะกับการนิยาม FIRE ของคนรุ่นใหม่ หรือการเกษียณทั่วไปตั้งแต่อายุ 60 ปี และให้ความคุ้มครองหากเกิดเหตุไม่คาดฝันทั้งก่อนและหลังเกษียณ เพื่อการใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการแม้ในอยู่ในยามเกษียณ!

แชร์