สุขภาพและกีฬา

Imposter Syndrome โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่มีค่าในสายตา ‘ตัวเอง’

12/11/2563
FWD Thailand
เคยได้ยินประโยคนี้บ้างไหม ประสบความสำเร็จมาโดยตลอด แต่กลับไม่รู้สึกยินดีกับสิ่งนั้น มองว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่คู่ควรกับสิ่งที่ได้มา คิดว่าตัวเองไม่ได้เรื่องได้ราวอะไรเลย หากว่ามีความคิดแบบนี้ นั้นหมายความว่าคุณอาจกำลังมีอาการของ Imposter Syndrome อยู่ซึ่งเป็นความรู้สึกที่มองตัวเองในแง่ลบและรู้สึกด้อยค่า จนบางครั้งมันอาจกระทบเข้ากับการทำงานการเรียน หรือการใช้ชีวิตของคุณได้ 
imposter1.webp
Imposter Syndrome คือ โรคที่รู้สึกว่าตัวเองนั้นด้อยคุณภาพ คิดว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่มั่นใจตัวเอง เรียกได้ว่าเป็นอาการทางจิตเวชอีกหนึ่งอย่าง ที่สามารถพัฒนาไปถึงขั้น โรคซึมเศร้าได้ และอย่างที่รู้กันมาว่า โรคซึมเศร้าสามารถเป็นกันได้ทุกเพศ ทุกวัย ยิ่งอยู่ในสังคมที่มีการแข่งขันสูงแบบนี้ ยิ่งมีความเสี่ยงสูง ที่จะเกิดโรค Imposter Syndrome ได้ เช็กสุขภาพจิตของคุณดูให้ดี เมื่อไหร่ ที่คุณตั้งคำถามกับตัวเองว่าคุณเก่งอะไรบ้าง หรือเชี่ยวชาญในสิ่งที่กำลังทำอยู่จริงๆ หรือเปล่า หรือ ความสำเร็จต่างๆ ที่ได้มาอาจเป็นเพราะฟลุก หากว่าสิ่งเหล่านี้วนเวียนเข้ามาในหัวบ่อยๆ จงอย่าเข้าใจผิดว่าสิ่งนี้ คือ การถ่อมตัว แต่มันคือสัญญาณเล็กๆ ของโรคที่คิดว่าตัวเอง “ด้อยประสิทธิภาพ”

กลุ่มบุคคลที่สุ่มเสี่ยง ต่อโรค Imposter Syndrome

โดยส่วนใหญ่แล้ว โรคนี้พบได้กับคนทั่วไป แต่มีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะเกิดกับ คนที่ประสบความสำเร็จในระดับสูง นักวิชาการ นักคิด เด็กจบใหม่ หรือ กลุ่มคนที่ผ่านการย้ายสถานที่ทำงานบ่อยๆ  จนไปถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลก  โดยอาการของโรคนี้ จะแสดงออกมาได้หลากหลายรูปแบบ เช่น

  • มีนิสัยนิยมความสมบูรณ์แบบ

มีความ Perfectionist สูง ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม แต่ลึกๆ กลับรู้สึกลังเล และไม่เชื่อในความสามารถของตัวเอง ถึงได้ย้ำคิด ย้ำทำ บ่อยๆ

  • กดดันตัวเอง ทุกสิ่งที่ทำ ยังดีไม่พอ

ไม่ว่าผลงานของคุณที่ออกไปจะมีคนชื่นชม และมีกระแสตอบรับดีแค่ไหนแต่คุณก็ยังรู้สึกว่า มันต้องดีกว่านี้

  • หัวไว ใส่ใจในการหาความรู้ในทุกเรื่อง

เกาะติดในทุกกระแส เหมือนเป็นการเติมข้อมูลใหม่ๆ ให้ตัวเองเสมอ เพื่อการรู้ทันสถานการณ์ และต้องการรู้ได้เร็ว ได้ไว กว่าผู้อื่น

  • One Man Show

 ชอบทำทุกสิ่งอย่างด้วยตัวคนเดียว ไม่พึ่งพาใคร เพราะกลัวการถูกมองว่าเป็นคนไม่มีความสามารถ

วิธีแก้ไข โรคกลัวตัวเองไม่เก่งให้หาย เริ่มได้ที่ตัวคุณ

  • วางเป้าหมายที่คุณต้องการไว้ในอนาคต 1, 5, 10 ปี

จำเอาไว้ให้ดี คุณไม่จำเป็นต้องมีทุกสิ่งทุกอย่างภายในระยะเวลา 1 เดือน ไม่จำเป็นต้องเข้มงวดกับตัวเองภายในระยะเวลาอันสั้นขนาดนั้น เพราะกว่าหลายๆ สิ่งจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องใช้เวลาทั้งนั้น

  • เขียนทุกสิ่งให้เป็น ไดอารี่ วันนี้ทำอะไรไปบ้าง

หยุดจดจ่อกับสิ่งที่กำลังจะทำต่อไป และใช้เวลาสัก 20 นาที เขียนบันทึกเรื่องราวดีๆ ในสิ่งที่วันนี้ได้ทำลงไป ก็สามารถสลัดความคิดแย่ๆ ให้ออกไปจากหัวได้นะ

  • สนทนาเรื่องงาน ภาษาเพื่อน

ทั้งแผนกไม่ได้มีคุณคนเดียว และคุณก็ไม่จำเป็นต้องแบกอะไรไว้ขนาดนั้น พูดคุยเรื่องงานกับเพื่อนบ้าง ลองหาเวลาพักกินข้าว มาแลกเปลี่ยนข้อมูลดู สิ่งที่คุณเป็นอยู่ ก็ไม่ต่างกับคนทั่วไปเท่าไหร่นัก

  • ไม่ว่าใครก็ผิดพลาดกันได้ทั้งนั้น

เรื่องของความผิดพลาด ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เคยได้ยินไหมว่าก่อนทดลองอะไรสำเร็จสักอย่างต้องผ่าน ความผิดพลาดมานับครั้งไม่ถ้วน เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครก็สามารถผิดพลาดกันได้ทั้งนั้น หาวิธีแก้ไขให้และก้าวข้ามปัญหานี้ไป ให้ไวที่สุด

  • เปิดใจรับฟังคำติชม

เปิดโอกาสให้ตัวเองด้วยการหาคนที่ไว้วางใจติชม ในสิ่งที่ตนเองได้ทำ เพื่อให้รู้นึกถึง ข้อดี หรือจุดที่ผิดพลาดในชิ้นงานนั้นๆ เพื่อนำมาปรับแก้ไขจุดอ่อน เพิ่มจุดแข็ง เพื่อให้ความคิดด้อยค่าว่าตัวเองไม่เก่งนั้นลดลงไปได้

  • ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเวลาที่เหมาะสม 

เลิกเปรียบเทียบจุดเริ่มต้นของตัวเอง กับความสำเร็จของคนอื่น เพราะกว่าที่จะได้อะไรมาหลายๆ อย่าง ก็ต้องผ่านความยากลำบากในจุดเริ่มต้นเหมือนเราทั้งนั้น ให้เวลา และเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ เพราะว่ามันจะเติมเต็มคุณได้แน่นอน 

คนเราเกิดมาแล้วหนึ่งชีวิต แล้วเราก็มีเพียงชีวิตเดียวเสียด้วย เป็นคนเก่งในสายตาคนอื่นแล้ว ก็อย่าลืมเป็นคนเก่งในสายตาตัวเอง ไม่มองข้ามคุณค่าในตัวเอง รักตัวเองให้มากๆ ใส่ใจ และลองฟังเสียงหัวใจตัวเองดูบ้าง ว่าลึกๆ แล้วความต้องการคืออะไร รวมทั้งหาเวลาให้รางวัลแก่ชีวิตเป็นการเติมไฟ เสริมให้การใช้ชีวิตนั้น มีความมั่นใจนอกจากสุขภาพจิตที่สำคัญแล้ว สุขภาพกายก็สำคัญไม่แพ้กัน ควรเตรียมพร้อมด้วย ประกันสุขภาพ ที่ครอบคลุมช่วยให้คุณพร้อมรับมือกับการใช้ชีวิตในทุกสถานการณ์อย่างมั่นใจ